การเพาะเห็ดฟางแบบโรงเรือน
การเพาะเห็ดฟางแบบโรงเรือน
เป็นการใช้ความรู้ทางด้านการเกษตรแผนใหม่เข้าช่วยในทุกขั้นตอนของการเจริญเติบโต จนกระทั่งเกิดดอกและเก็บเกี่ยว ผู้ที่จะเพาะเห็ดฟางแบบโรงเรือน จึงควรจะผ่านการเพาะเห็ดแบบกองสูงหรือกองเตี้ยมาแล้ว เพื่อจะได้ทราบถึงความต้องการปัจจัยต่าง ๆ ในการเจริญเติบโตของเห็ดฟางทุกขั้นตอนตั้งแต่เริ่มแรกจนกระทั่งเก็บเกี่ยวผลผลิต
ทั้งนี้เพราะการเพาะเห็ดฟางด้วยวิธีนี้ต้องลงทุนครั้งแรกสูงมากในด้านการก่อสร้างโรงเรือน เครื่องกำเนิดไอน้ำ และอุปกรณ์อื่น ๆ มีขั้นตอนในการเพาะเห็ดมากขึ้น โดยจะต้องหมักปุ๋ยที่จะใช้เพาะ, นำมาตีให้ละเอียด, ใส่ในโรงเรือน, เลี้ยงเชื้อรา, อบฆ่าเชื้อ, ปรับอุณภูมิความชื้นและแสง เป็นต้น หากปรับสภาพแวดล้อมไม่ถูกวิธีอาจทำให้เสียทั้งหมดได้
โรงเรือนที่ใช้เฉพาะและการจัดสร้าง โรงเรือนที่จะใช้เพาะเห็ดฟางนั้น ควรคำนึงถึงความเป็นจริงที่มีการปฏิบัติกันอยู่แยกออกเป็น
- การทำแม่เชื้อเห็ดฟาง
- การทำก้อนเชื้อเห็ดฟาง
- การหมักวัสดุเพาะเห็ดฟาง
- การนำวัสดุเพาะขึ้นชั้นเพาะ
- การอบไอน้ำโรงเรือน
- การโรยเชื้อเห็ดฟาง
- การเลี้ยงเชื้อ
- การตัดใย
- การระบายอากาศและควบคุมสภาพแวดล้อม
- การสร้างโรงเรือนเพาะเห็ดฟาง
- การหมั่นสังเกตและข้อควรระวัง
สำหรับวิธีการเพาะเห็ดฟางแบบโรงเรือนนั้น เริ่มจากการทำโรงเรือนแบบชั่วคราว ขนาดกว้าง 6 เมตร ยาว 10 เมตร หลังคามุงแฝกหรือวัสดุกันแดดและฝนได้ ด้านในบุด้วยผ้าใบพลาสติกสีฟ้าหรือสีขาวก็ได้ ทายาแนวภายในผ้าใบเพื่อไม่ให้มีรอยรั่ว ทำพื้นแบบประหยัดไม่ต้องเทพื้น ชั้นเพาะเห็ดทำด้วยไม้ เช่น ไม้ยูคาลิปตัส ไม้ไผ่ ขนาดกว้าง 1 เมตร ความยาวตามขนาดความยาวของโรงเรือน แต่ละแถวจะมี 4-5 ชั้นเพาะ แต่ละชั้นห่างกัน 40 เซนติเมตร รองชั้นเพาะด้วยตาข่าย
การเพาะเห็ดฟางในโรงเรือน
จำเป็นต้องอบไอน้ำเพื่อฆ่าเชื้อจุลินทรีย์อุณหภูมิอยู่ที่60 องศาเซลเซียส เป็นเวลาอย่างน้อย 3 ชั่วโมง และติดโทโมมิเตอร์ เพื่อใช้วัดอุณหภูมิในโรงเรือนเพาะเห็ดทั้งขณะระหว่างการเพาะ ในส่วนของขั้นตอนในการเพาะเริ่มจากการหมักวัสดุเพาะเป็นชั้น 3 ชั้น ต่อด้วยการนำวัสดุขึ้นชั้นเพาะ อบไอน้ำเพื่อฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ โรยเชื้อเห็ดฟางเลี้ยงเส้นใย หลังจากเลี้ยงเส้นใยได้ 3 วันก็จะตัดเส้นใย และลดอุณหภูมิเพื่อเพิ่มความชื้น
อุปกรณ์ที่จำเป็นต่อการเพาะเห็ดฟางในโรงเรือน
การเพาะเห็ดฟางในโรงเรือนเพื่อให้การดำเนินการประสบความสำเร็จตามเป้าหมายควรมีอุปกรณ์ทีสำคัญดังนี้
1. พัดลมดูดเป่า และ ระบายอากาศ เป็นพัดลมทรงกระบอกธรรมดา ขนาดใบพัด 16-20เซ็นติเมตร แต่ดัดแปลงทำกล่องสังกะสีสวมปากทางลมออก โดยให้มีลมออกได้ 2 ทาง ทางหนึ่งต่อเข้าภายในโรง เรือน อีกทางหนึ่งออกภายนอก ทั้งสองจะมีลิ้นเปิดปิด ส่วนทางออกลมก็เช่นเดียวกัน
คือ ทำทางดูด 2 ทาง ต่อเข้าภายในด้านหนึ่ง อีกด้านหนึ่งอยู่ข้างนอก และมีลิ้นปิดเปิดเช่นกัน สำหรับทางออกลมก็ต่อเข้าภายในโรงเรือนโดยต่อขึ้นไปข้างบนขนานกับสันจั่ว อาจทำด้วยท่อเอสล่อนหรือใช้ผ้าพลาสติกเย็บให้ได้เส้นผ่าศูนย์กลางพอสวมปากท่อได้ ตรงท่อที่ขนานจั่วนั้นต้องทำการเจาะรูเท่าม้วนบุรี่เพื่อให้อากาศออก
2. เทอร์โมมิเตอร์ คือ เครื่องมือสำหรับวัดอุณภูมิภายในห้อง ควรใช้ขนาดที่สามารถวัดได้ตั้งแต่ 0-100 องศาเซลเซียส อยูู่ติดผนังสูงจากพื้นประมาณ 1.50 เมตร อยู่ด้านในของโรงเรือนก็ได้ ช่องที่เจาะใส่เทอร์โมมิเตอร์นั้นจะต้องกลวง เพื่อให้เทอร์โมมิเตอร์สัมผัสกับอากาศภายในส่วนด้านนอกของโรงเรือนปิดด้วยกระจกใสเพื่อง่ายต่อการอ่านค่า
3. กะบะไม้หรือแบบพิมพ์ไม้สำหรับหมักวัสดุ จะทำเป็นรูปสี่เหลี่ยมจตุรัสก็ได้ขนาดความกว้างและความยาวเท่ากันประมาณ 1-15 เมตร สูง 50 เซนติเมตร
4. เครื่องตีปุ๋ยหมัก ใช้ตีปุ๋ย หลังจากหมักได้ที่แล้ว เครื่องตีปุ๋ยหมักควรเป็นเครื่องที่กำลังแรงสูง อย่างน้อยไม่ควรต่ำกว่า 5 แรงม้า อาจดัดแปลงจากเครื่องตีน้ำแข็ง หรือเครื่องตีหินก็ได้ ตีปุ๋ยหมักให้ละเอียดและฟู
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น